3.มามีส่วนร่วมกันเถอะ

มามีส่วนร่วมกันเถอะ



วิถีชีวิตคนไทยอยู่รอดด้วยภูมิปัญญาไทย/ท้องถิ่น







ภูมิปัญญาไทย

หมายถึง องค์ความรู้ ความสามารถ และทักษะของคนไทยอันเกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้ เลือกสรรปรุงแต่ง พัฒนาและถ่ายทอดต่อกันมาเพื่อใช้แก้ปัญหาและพัฒนาวิถีชีวิตของคนไทยให้สมดุลกับสภาพแวดล้อและเหมาะสมกับยุคสมัย



ภูมิปัญญาไทยนี้มีลักษณะเป็นองค์รวม มีคุณค่าทางวัฒนธรรมเกิดขึ้นในวิถีชีวิตไทย ซึ่งภูมิปัญญาท้องถิ่นอาจเป็นที่มาขององค์ความรู้ที่งอกงามขึ้นใหม่ที่จะช่วยในการเรียนรู้การแก้ปัญหา การจัดการและการปรับตัวในการดำเนินวิถีชีวิตของคนไทย ลักษณะองค์รวมของภูมิปัญญามีความเด่นชัดในหลายด้าน เช่น ด้านเกษตรกรรม ด้านอุตสาหกรรม และหัตถกรรม ด้านการแพทย์แผนไทย ด้านศิลปกรรม ด้านการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ด้านปรัชญา ศาสนา ด้านกองทุนและธุรกิจชุมชน ด้านภาษาและวรรณกรรมและประเพณี และ ด้านโภชนาการ

ตัวอย่างเช่น




ครอบครัวไทยมีปู่ย่าตายาย พ่อแม่ลูก วงศาคณาญาติสั่งสอนสืบทอดความคิด ความเชื่อ แลความรู้ที่กลมกลืนกับวิถีชีวิต เด็กเรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับธรรมชาติ ทำงานเป็น ปรับตัวได้ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ สร้างสรรค์สังคมไทยสังคมไทย





ความเป็นชาติไทย มีฐานที่มั่นคงของภูมิปัญญาไทย คนไทยรู้จักเลือกถิ่นฐานสร้างบ้านเรือน เรามีหมู่บ้านริมสองฝั่งคลอง บนที่ดอน บนเนิน ตามหุบเขา สร้างบ้านใต้ถุนสูง พ้นน้ำท่วม หลังคาหน้าจั่วรับลมฝน



ทำเหมืองฝาย กักน้ำไว้ทำนาทำไร่เรามีเครื่องมือทำมาหากิน มีไถ มีคราด แร้ว เบ็ดราว ระหัดวิดน้ำ ชาวสวนแช่ยาฉุน เปลือกสะเดา เพื่อพ่นทำลายแมลงที่กัดกินไม้ผล แม่บ้านเก็บดอกฝ้าย กรอใยไหม ทอลวดลายงดงาม ย้อมผ้าด้วยแก่นขนุน มีสันสดสวยของดอกไม้ เย็บเสื้อผ้าแบบไทย


ชาติไทยมีอักษรไทยและเลขไทยของเราเอง เรามีถ้อยคำร้อยกรองที่ไพเราะ เพลงกล่อมเด็ก เพลงพื้นบ้าน ท่าร่ายรำที่งดงามอ่อนช้อย ร่าเริงสง่างาม ตามเสียงดนตรีไทย  

สมุนไพรนานาชนิด คิดค้นนำมาบดผสมเป็นยาสุขุมแก้ไข้อาหารไทยนั้นปรุงอย่างประณีต รสอร่อยเลิศ ทั้ง หลน ยำ พล่าแกง คั่ว ผัด ทอด งานครัวฝีมือปรุงหลากหลาย เช่น ปิ้ง ย่าง หลาม เผา ผิง คำสั่งสอนชวนคิดเป็นสุภาษิต คำผญา จารึกใบลาน


วรรณกรรมตัวอย่างที่กล่าวนำมานี้ เป็นศักดิ์ศรีของชาติ เป็นความฉลาด ความเชี่ยวชาญ ของบรรพบุรุษที่สั่งสมสืบทอดกันมาเรียกว่า ภูมิปัญญาไทย

การมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย


การมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทยสามารถปฏิบัติได้หลายวิธีดังต่อไปนี้
1. จัดให้มีการถ่ายทอดวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทยจากคนรุ่นเก่าสู่คนรู่นใหม่ เช่น การอนุรักษ์เพลงพื้นบ้านทั้งลำตัด เพลงฉ่อย เพลงเรือ ด้วยการจัดชมรมประจำท้องถิ่น หรือการเชิญพ่อเพลงแม่เพลงในชุมชนมาถ่ายทอดความรู้ให้แก่คนรุ่นหลัง หรือจัดกิจกรรมขึ้นในโรงเรียน เป็นต้น
2. เปลี่ยนแปลงค่านิยมของคนในสังคมที่ละเลยหรือไม่ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมและภูมิปัญญาพื้นบ้านของไทย เช่น ควรส่งเสริมการศึกษาและใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากสมุนไพรไทย เช่น ที่โรงพยาบาลอภัยภูเบศร จังหวัดปราจีนบุรี ได้นำสมุนไพรต่าง ๆ มาสกัดเป็นยารักษาโรค เครื่องสำอาง ขายให้กับประชาชนทั้วไป เป็นต้น
3. ร่วมกันทำให้วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทยเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นเพียงการจัดแสดงหรือรณรงค์เป็นบางช่วงเท่านั้น เช่น บางท้องถิ่น บางหน่วยงานรณรงค์ให้คนในท้องถิ่นหรือในหน่วยงานแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่ตัดเย็บจากผ้าพื้นเมือง ก็ควรหาแบบเสื้อผ้าที่เหมาะสมกับคนทุกวัย ทุกสาขาอาชีพ ราคาย่อมเยา ไม่ควรให้คนรุ่นใหม่คิดว่าการแต่งกายด้วยผ้าพื้นเมืองเป็นความเชย ดูแลรักษายาก ราคาแพง และเป็นเครื่องแต่งกายเฉพาะผู้สูงอายุหรือใช้แต่งเฉพาะเวลามีงานสำคัญเท่านั้น
4. สร้างจิตสำนึกให้คนไทยเห็นคุณค่าและร่วมกันอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย เช่น ส่งเสริมและปลูกฝังให้เยาวชนรักษากิริยามารยาทแบบไทย เช่น มีสัมมาคารวะ เคารพผู้ใหญ่ มีความอ่อนน้อมถ่อมตน และรักนวลสงวนตัว รวมทั้งส่งเสริมให้ใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องทั้งการพูดและการเขียน เช่น รณรงค์ให้พูดออกเสียงภาษาไทยให้ชัดเจน ไม่พูดภาษาไทยปนภาษาอังกฤษ เป็นต้น
แนวทางในการนำภูมิปัญญาไทยไปใช้ในการดำเนินชีวิต



แนวทางในการนำภูมิปัญญาไทยไปใช้ในการดำเนินชีวิต


- ภูมิปัญญาที่เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติจะแสดงออกมาในลักษณะการดำเนินชีวิตภายใต้พื้นฐานด้านปัจจัย 4
- ภูมิปัญญาที่เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนอื่นในสังคมจะแสดงออกมาในลักษณะจารีตประเพณี นันทนาการ การสื่อสารต่างๆ
- ภูมิปัญญาที่เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติจะแสดงออกมาในลักษณะของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ศาสนา และความเชื่อ
การดำเนินชีวิตแบบภูมิปัญญาไทย เน้นชีวิตที่เรียบง่าย พออยู่พอกินพึ่งพาตนเองได้ ใช้แนวทางเศรษฐกิจแบบพอเพียง

การส่งเสริมภูมิปัญญาไทย

เนื่องจากภูมิปัญญาไทยมีความสำคัญดังกล่าวแล้วข้างต้น จึงจำเป็นต้องส่งเสริมให้ดำรงอยู่ เพื่อเป็นฐานความรู้ในการผสมผสานกับวิทยาการสากล ดังนี้
๑. ประเทศยกย่อง "ครูภูมิปัญญาไทย"ให้สามารถทำการถ่ายทอด และพัฒนาผลงานของตนได้อย่างต่อเนื่องและมีคุณภาพ โดยจัดระบบเกื้อหนุนและส่งเสริมกระบวนการถ่ายทอด ที่ท่านเหล่านี้ดำเนินการอยู่แล้วส่วนหนึ่ง และเชื่อมโยงกระบวนการถ่ายทอดของท่าน เข้ากับกระบวน-การเรียนการสอนในระบบโรงเรียน โดยอาจจัดระบบการเทียบโอนหน่วยกิต การเทียบวุฒิเทียบตำแหน่ง เพื่อให้เกิดการลื่นไหลระหว่างความรู้ ผสานเข้าด้วยกันเป็นระบบการศึกษาที่เป็นหนึ่งเดียว
๒. จัดให้มีศูนย์ภูมิปัญญาไทย ซึ่งแนวคิดนี้ต้องการให้มีแหล่งสำหรับการเรียนรู้ภูมิปัญญาของชุมชนนั้นๆ เกิดขึ้น อาจเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีอยู่แล้วในชุมชน เช่น บ้านของผู้ทรงภูมิปัญญาวัด ศาลาของหมู่บ้าน เวทีชาวบ้าน เป็นต้นเพียงแต่เข้าไปช่วยเสริมเพื่อให้สามารถใช้สถานที่นั้นๆ เป็นแหล่งเรียนรู้ ถ่ายทอดภูมิปัญญาคู่กับสถานศึกษาในระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
๓. จัดตั้งสภาภูมิปัญญาไทย เนื่องจากลักษณะภูมิปัญญาไทยมีความหลากหลายสมดุลกันเป็นองค์รวม หากนำเรื่องภูมิปัญญาไทยเข้าไปไว้ในกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง หรือกรมใดกรมหนึ่ง นโยบายของกระทรวงและกรมนั้น จะเป็นตัวกำหนดกรอบของภูมิปัญญาไทยให้จำกัดอยู่เฉพาะเรื่อง เช่น หากนำภูมิปัญญาไทยไปไว้ในกระทรวงศึกษาธิการ ประเด็นที่จะถูกยกขึ้นมาพิจารณา คือ ภูมิปัญญาไทยนั้นต้องเป็นเรื่องของการศึกษาเท่านั้น จึงจะได้รับการส่งเสริมและวิธีการส่งเสริมทางหนึ่งที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นไปได้สูงคือ การนำภูมิปัญญาไทยไปบรรจุไว้ในโรงเรียน ซึ่งจะขัดกับลักษณะของภูมิปัญญาไทยที่ผู้เรียนจะเรียนรู้ได้ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับภูมิปัญญาไทยแต่ละเรื่องเท่านั้น หากเปลี่ยนสภาพแวดล้อม การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทยก็จะไม่เกิด จึงสมควรให้มีสภาภูมิปัญญาไทย เป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนความรู้ และถ่ายทอดภูมิ-ปัญญาของผู้ทรงภูมิปัญญา
๔. จัดตั้งกองทุนส่งเสริมภูมิปัญญาไทยด้วยความจำกัดของระบบการจัดสรรเงินงบ-ประมาณจากรัฐบาล ที่มีกฎ ระเบียบ ข้อบังคับและระยะเวลา รวมทั้งสภาวะการณ์ของประเทศมาเป็นตัวตัดสินว่า โครงการ/งานใดควรได้รับงบประมาณเท่าใด และจะได้รับเงินในปีถัดไปหรือไม่ ทำให้การดำเนินงานส่งเสริมภูมิปัญญาไทยซึ่งต้องกระทำอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการพัฒนาและสร้างสรรค์ความรู้ใหม่จากฐานภูมิปัญญาเดิม ต้องอาศัยระยะเวลานาน ไม่อาจกำหนดได้ชัดเจนว่าต้องใช้ระยะเวลากี่ปีจึงแล้วเสร็จ การกำหนดงบประมาณเป็นรายปี จึงเป็นมูลเหตุขัดขวางการพัฒนาและการส่งเสริมภูมิปัญญาไทยเป็นอย่างมากเพื่อแก้ไขข้อจำกัดดังกล่าว การตั้งกองทุนส่งเสริมภูมิปัญญาไทยจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในฐานะเป็นทุนในการสร้างและเสริมภูมิปัญญาของชาติด้วยความร่วมมือทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน
๕. การคุ้มครองลิขสิทธิ์ภูมิปัญญาไทย เพื่อให้ภูมิปัญญาไทยอันเป็นมรดกทางปัญญาของแผ่นดินได้อยู่คู่กับคนไทย เป็นทุนทางปัญญาในการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ทั้งทางเศรษฐกิจสังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม รวมทั้งวัฒนธรรมการสงวนและรักษามรดกทางภูมิปัญญาดังกล่าวจึงต้องมีระบบคุ้มครองทรัพย์สินทางภูมิปัญญาเกิดขึ้น เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ในท้องถิ่นและประเทศชาติ ลิขสิทธิ์ภูมิปัญญาไทยนี้จึงเปรียบเสมือนระบบคุ้มกันและส่งเสริมปัญญาของชาติ
๖. ตั้งสถาบันแห่งชาติว่าด้วยภูมิปัญญาและการศึกษาไทย เพื่อทำหน้าที่ประสานงานและเผยแพร่ภูมิปัญญาไทย การประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่ข้อมูลเป็นปัจจัยสำคัญมากในการทำงานต่อภาพพจน์และสถานภาพของบุคคลหน่วยงาน/องค์กร/สถาบันต่างๆ การส่งเสริมภูมิปัญญาไทยนั้นยิ่งเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างมากเนื่องจากกลไกสำคัญในการส่งเสริมภูมิปัญญาไทยคือการสร้างความรู้ ความเข้าใจ การสร้างจิต-สำนึก และเห็นคุณค่าของสิ่งที่เป็นภูมิปัญญาไทยการพัฒนาให้บุคคลต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทั้งสามด้าน (ความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรม) จำเป็นต้องอาศัยการให้การศึกษาในทุกรูปแบบ นั่นคือ การสร้างสังคมของผู้รับให้เหมาะสมกับการเรียนรู้ภูมิปัญญาในเรื่องหนึ่งๆให้เกิดขึ้นจนผู้นั้นสามารถไปเชื่อมต่อกันเป็นเครือข่ายภูมิปัญญาในเรื่องนั้นๆ จนขยายตัวเป็นเครือข่ายการเรียนรู้ภูมิปัญญาที่กว้างขึ้น ทั้งในส่วนของการขยายพื้นที่เรียนรู้ และขยายเรื่องที่เรียนรู้ไปสู่การเรียนรู้ในทุกเรื่อง ทุกเวลา ทุกสถานที่จนกลายเป็นวิถีชีวิตของคนในชุมชนท้องถิ่น และประเทศ
๗. การประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ทรงภูมิปัญญาไทยทั้งในระดับชาติและระดับโลกระดับชาติ หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนหลายองค์กร ได้ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ทรงภูมิปัญญาไทย ในรูปแบบที่หลาก-หลายประจำปีอย่างต่อเนื่อง เช่น ศิลปินแห่งชาติผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม คนดีศรีสังคม เป็นต้น มีผลทำให้ผู้ทรงภูมิปัญญาไทยมีขวัญและกำลังใจ ที่จะเผยแพร่และถ่ายทอดภูมิ-ปัญญาของตนอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น

การอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทย

1. การค้นคว้าวิจัย ควรศึกษาและเก็บรวบรวมข้อมูลภูมิปัญญาของไทยในด้านต่างๆ ของท้องถิ่น จังหวัด ภูมิภาค และประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิปัญญาที่เป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่น มุ่งศึกษาให้รู้ความเป็นมาในอดีต และสภาพการณ์ในปัจจุบัน

2. การอนุรักษ์ โดยการปลุกจิตสำนึกให้คนในท้องถิ่นตระหนักถึงคุณค่าแก่นสาระและความสำคัญของภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่งเสริมสนับสนุนการจัดกิจกรรมตามประเพณีและวัฒนธรรมต่างๆ สร้างจิตสำนึกของความเป็นคนท้องถิ่นนั้นๆ ที่จะต้องร่วมกันอนุรักษ์ภูมิปัญญาที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น รวมทั้งสนับสนุนให้มีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นหรือพิพิธภัณฑ์ชุมชนขึ้น เพื่อแสดงสภาพชีวิตและความเป็นมาของชุมชน อันจะสร้างความรู้และความภูมิใจในชุมชนท้องถิ่นด้วย

3. การฟื้นฟู โดยการเลือกสรรภูมิปัญญาที่กำลังสูญหาย หรือที่สูญหายไปแล้วมาทำให้มีคุณค่าและมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตในท้องถิ่น โดยเฉพาะพื้นฐานทางจริยธรรม คุณธรรม และค่านิยม

4. การพัฒนา ควรริเริ่มสร้างสรรค์และปรับปรุงภูมิปัญญาให้เหมาะสมกับยุคสมัยและเกิดประโยชน์ในการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยใช้ภูมิปัญญาเป็นพื้นฐานในการรวมกลุ่มการพัฒนาอาชีพควรนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีมาช่วยเพื่อต่อยอดใช้ในการผลิต การตลาด และการบริหาร ตลอดจนการป้องกันและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

5. การถ่ายทอด โดยการนำภูมิปัญญาที่ผ่านมาเลือกสรรกลั่นกรองด้วยเหตุและผลอย่างรอบคอบและรอบด้าน แล้วไปถ่ายทอดให้คนในสังคมได้รับรู้ เกิดความเข้าใจ ตระหนักในคุณค่า คุณประโยชน์และปฎิบัติได้อย่างเหมาะสม โดยผ่านสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา และการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่างๆ

6. ส่งเสริมกิจกรรม โดยการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายการสืบสานและพัฒนาภูมิปัญญาของชุมชนต่างๆ เพื่อจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง

7. การเผยแพร่แลกเปลี่ยน โดยการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการเผยแพร่และแลกเปลี่ยนภูมิปัญญาและวัฒนธรรมอย่างกว้างขวาง โดยให้มีการเผยแพร่ภูมิปัญญาท้องถิ่นต่างๆ ด้วยสื่อและวิธีการต่างๆ อย่างกว้างขวาง รวมทั้งกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

8. การเสริมสร้างปราชญ์ท้องถิ่น โดยการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของชาวบ้าน ผู้ดำเนินงานให้มีโอกาสแสดงศักยภาพด้านภูมิปัญญา ความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ มีการยกย่องประกาศเกียรติคุณในลักษณะต่างๆ